header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

อิเหนาห้ามส่งออกถ่านหินเดือนมกราคม ห่วงไม่พอใช้ในประเทศ

ASEAN News

1 มกราคม 2565 : อินโดนีเซียห้ามการส่งออกถ่านหินในเดือนมกราคม เนื่องจากความกังวลว่าจะมีไม่พอสำหรับโรงไฟฟ้าภายในประเทศ สื่อท้องถิ่นรายงานในวันเสาร์ (1) อ้างอิงจากจดหมายของกระทรวงพลังงาน

ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้เป็นผู้ส่งออกถ่านหินประเภทให้ความร้อนรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่งออกประมาณ 400 ล้านตันในปี 2020 ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

อินโดนีเซียมีนโยบายข้อบังคับตลาดภายในประเทศ (Domestic Market Obligation - DMO) ซึ่งบริษัทเหมืองถ่านกินต่างๆ ต้องจัดส่งผลผลิตประจำปี 25 เปอร์เซ็นต์ให้รัฐวิสาหกิจ Perusahaan Listrik Negara (พีแอลเอ็น) ที่ราคาไม่เกิน 70 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันมาก

 

ในจดหมายที่สื่อท้องถิ่น Kumparan นำมาอ้างอิง กระทรวงพลังงานออกคำสั่งว่าถ่านหินทั้งหมดที่ท่าเรือควรถูกเก็บไว้ให้โรงไฟฟ้าและบริษัทผลิตพลังงานอิสระ (ไอพีพี)

"คำสั่งห้ามส่งออกจะถูกประเมินและตรวจสอบใหม่อีกครั้งตามปริมาณถ่านหินสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าของพีแอลเอ็น และไอพีพี

กระทรวงพลังงานและแอลพีเอ็นไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ ขณะที่สมาคมเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย ระบุว่า พวกเขาจะส่งถ้อยแถลงเกี่ยวกับคำสั่งห้ามส่งออกดังกล่าว

เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 อินโดนีเซียระงับการส่งออกถ่านหินจากบริษัทเหมืองถ่านหิน 34 แห่ง ที่ทางการระบุว่า ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับตลาดภายในประเทศระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีที่แล้ว

อินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 อันดับแรกและถ่านหินคิดเป็นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แหล่งพลังงานในประเทศ

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน