header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ชาวพม่าหันพึ่งเพจเฟซบุ๊กแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤตค่าเงินจ๊าตร่วงหนัก

ASEAN News

3 ตุุลาคม 2564 :ขณะที่เศรษฐกิจของพม่าตกต่ำลงอย่างหนักหลังการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. และทำให้ระบบการเงินของประเทศบางส่วนหยุดชะงัก หลายคนในประเทศจึงหันไปหากลุ่มออนไลน์เพื่อเลี่ยงช่องทางอย่างทางการในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

ความเปราะบางของระบบการเงินปรากฏให้เห็นมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อค่าเงินจ๊าตดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุด หลังจากธนาคารกลางยกเลิกพยุงค่าเงิน ทำให้ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและร้านทองหลายแห่งต้องปิดกิจการลงจากสถานการณ์ดังกล่าว

กลุ่มออนไลน์ที่ส่วนใหญ่อยู่บนเฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายสกุลเงินในการติดต่อกัน ที่มักอาศัยความเชื่อใจในการจัดการแลกเปลี่ยนธนบัตร

“ฉันโพสต์ขายแบงก์เก่าส่วนหนึ่งลงในกลุ่ม” เม เล ชาวนครย่างกุ้ง อ้างถึงสิ่งที่เธอกล่าวว่าเป็นการขายเงินดอลลาร์ราว 190 ดอลลาร์เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินจ๊าตในกลุ่มเฟซบุ๊ก

“ฉันตกงานและยังไม่มีรายได้เข้ามาในตอนนี้ ชีวิตลำบากมากกับลูก 1 ขวบอีก 1 คน” เม เล กล่าว และระบุว่า ครอบครัวของเธอต้องใช้เงินเป็น 2 เท่าเพื่อซื้ออาหาร

ในช่วงไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหาร ผู้คนต่อแถวยาวหน้าธนาคารเพื่อรอถอนเงินสด และเวลานี้ เงินจ๊าตได้รับผลกระทบหนักขึ้นโดยค่าเงินลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในเดือน ก.ย.

หลังจากธนาคารโลกเตือนว่าเศรษฐกิจของพม่าปีนี้อาจตกต่ำลง 18% ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าวว่า ธนาคารกลางไม่สามารถตอบสนองความต้องการธนบัตรดอลลาร์ของประชาชนในประเทศได้

หนึ่งในกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตั้งขึ้นบนเฟซบุ๊กชื่อ ‘Dollar Buyer Seller Direct’ มีสมาชิกกลุ่มราว 170,000 คน โดยแอดมินกลุ่มเตือนผู้ใช้งานว่าให้ระมัดระวังก่อนทำข้อตกลงใดๆ

“ผู้ขาย ผู้ซื้อ ควรมีความรับผิดชอบทั้งคู่” คำเตือนระบุ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มจะถูกปิดไปแล้ว แต่ยังมีอย่างน้อยอีกกลุ่มหนึ่งปรากฏขึ้นมาแทนที่

ตามปกติแล้ว ผู้ค้าเงินในพม่าควรต้องได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์ในเรื่องนี้

เมื่อสอบถามถึงหน้าเพจดังกล่าวที่กำลังใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มของบริษัท ราฟาเอล แฟรงเคล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะของประเทศเกิดใหม่ ของเฟซบุ๊ก เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ทีมงานที่ทุ่มเทของบริษัท รวมถึงผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพม่าแบบเรียลไทม์ และจะดำเนินการกับการกระทำใดๆ ก็ตามที่ละเมิดนโยบายของเราทันทีที่เราทราบ”

“เราขอส่งความห่วงใยไปถึงชาวพม่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้” แฟรงเคล กล่าว

เนื่องจากร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราบางแห่งระงับการดำเนินการและอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในตอนนี้ไม่สอดคล้องกับอัตราตลาด ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไปในโลกออนไลน์เพื่อทำการซื้อขายด้วยตัวเอง

“มันเหมือนกับตลาดมืด ทั้งสองฝ่ายต่างวิตกกังวลจนกระทั่งข้อตกลงเสร็จสิ้น” เย ยิน ตุน อายุ 33 ปี ที่หันมาเป็นนายหน้าซื้อขายเงินตราอย่างไม่เป็นทางการหลังตกงานจากการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติ กล่าว

จากตอนแรกที่เรียกค่าธรรมเนียม 20% เวลานี้ เย ยิน ตุน ลดค่าธรรมเนียมเหลือเพียง 2% เพื่อดึงดูดความสนใจ และน่าจะทำให้เขามีรายได้ราว 10,000-20,000 จ๊าตต่อวัน

 

“มีความเสี่ยงที่คุณจะถูกปล้นขณะคุณกำลังทำการแลกเปลี่ยน ดังนั้นเราต้องระมัดระวังให้มาก” เย ยิน ตุน กล่าว

กลุ่มออนไลน์เหล่านี้ยังใช้ประโยชน์จากกระแสเงินที่ส่งมาจากแรงงานต่างด้าวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย

“เงินหลายล้านดอลลาร์กำลังถูกลักลอบจากไทยเข้ามาในพม่าทุกวัน” ผู้ค้าเงินที่ไม่มีใบอนุญาตในไทย กล่าว และว่า แรงงานพม่าราว 4 ล้านคนในไทยต้องการส่งเงินกลับไปให้สมาชิกในครอบครัว

“เราใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มในการขายเงิน” ผู้ค้าที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อ กล่าว

คนงานพม่าในไทยจ่ายเงินให้ผู้ค้าด้วยรายได้ที่เป็นเงินบาทของพวกเขา ที่จะมอบเงินจ๊าตให้สมาชิกครอบครัวในพม่า และใช้เงินบาทซื้อเงินดอลลาร์

ผู้ค้าในไทยอีกรายหนึ่งระบุว่า เงินดอลลาร์ถูกลักลอบเข้าไปในพม่าที่บางครั้งซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าหรือตามข้าวของเครื่องใช้

“เฉพาะในเดือน ก.ย. ผมซื้อขายไปประมาณ 30 ล้านบาท สูงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า” ผู้ค้ากล่าว.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน