header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

นายกฯ มาเลเซียนำครม.เข้าเฝ้าฯ ‘ลาออก’ ทั้งคณะ

ASEAN News

16 สิงหาคม 2564 : นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีเข้า เฝ้าฯ กราบบังคมทูลลาออกต่อสมเด็จพระราชาธิบดีในวันนี้ (16 ส.ค.) ปิดฉากการบริหารประเทศด้วยเวลาเพียงแค่ 17 เดือน หลังเผชิญแรงกดดันรอบด้านทั้งจากปัญหาการเมืองและวิกฤตโควิด-19

การร่วงจากอำนาจของ มูห์ยิดดิน เกิดขึ้นหลังจากที่บรรดาพันธมิตรถอนการสนับสนุน ซึ่งทำให้เขาต้องกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีรอบสุดท้ายสิ้นสุดลง มูห์ยิดดิน วัย 74 ปี ได้เดินทางไปยังพระราชวังหลวง เพื่อกราบทูลฯ ลาออกต่อสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (16)

ไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์มาเลเซีย แถลงผ่านอินสตาแกรมว่าคณะรัฐมนตรีได้ลาออกแล้ว ส่วน โมฮาหมัด ริซวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันกับเอเอฟพีว่านายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลาออกจากตำแหน่ง และสมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงรับแล้ว

ในเวลาต่อมา มูห์ยิดดิน ได้เปิดแถลงข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ว่า ตนได้กราบบังคมทูลฯ ขอลาออกต่อสมเด็จพระราชาธิบดี เนื่องจากไม่ได้รับความเชื่อมั่นจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภา และหวังว่าคงจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้โดยเร็วที่สุด

สำนักพระราชวังมาเลเซียได้มีถ้อยแถลงชี้แจงว่า การจัดเลือกตั้งใหม่ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ และสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุลเลาะห์ทรงยินดีที่จะให้ มูห์ยิดดิน ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ต่อไป

“สมเด็จพระราชาธิบดีทรงรับหนังสือลาออกของนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน และคณะรัฐมนตรีในทันที” สำนักพระราชวังมาเลเซียระบุในคำแถลงผ่านเฟซบุ๊ก

“ภายหลังการลาออก สมเด็จพระราชาธิบดีโปรดเกล้าฯ ให้ มูห์ยิดดิน ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่”

ข่าวการลาออกของนายกฯ มาเลเซียส่งผลให้เงินริงกิตอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ร่วงหนักเช่นกัน

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ คนถัดไป แต่การจัดเลือกตั้งใหม่ในเวลานี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในมาเลเซียที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคนพุ่งสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

รูปการณ์ที่อาจเป็นไปได้หลังจากนี้ก็คือ อาจจะมีการต่อรองระหว่างกลุ่มขั้วการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสียงข้างมากในสภา

“เวลานี้ทุกคนก็ได้แต่คาดเดากันไปว่าใครจะขึ้นมาแทนที่เขา” โอห์ เอ ซุน นักวิเคราะห์จากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs (SIIA) ให้ความเห็น

สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียทรงมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยว่าบุคคลใดที่รับการสนับสนุนจาก ส.ส.จำนวนมากเพียงพอ

มูห์ยิดดิน ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu) ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2020 โดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ตามหลังความปั่นป่วนทางการเมืองที่ทำให้อดีตนายกฯ มหาเธร์ โมฮาหมัด สละตำแหน่งอย่างกะทันหัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมูห์ยิดดินก็ต้องเจอกับมรสุมหนักตั้งแต่วันแรก เมื่อมีบางคนตั้งคำถามว่าเขามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาจริงหรือไม่ และยังถูกท้าทายอยู่เป็นระยะๆ จากผู้นำฝ่ายค้านคนดังอย่าง อันวาร์ อิบราฮิม

มูห์ยิดดิน เผชิญแรงกดดันหนักขึ้น เมื่อ ส.ส.บางคนในพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในรัฐบาลผสมของเขา ประกาศถอนการสนับสนุนนายกฯ ขณะที่ มูห์ยิดดิน อ้างว่าความวุ่นวายทางการเมืองเหล่านี้เกิดจากการที่ตนปฏิเสธข้อเรียกร้องของ “คนบางกลุ่ม” ซึ่งรวมถึงการขอให้ใช้อำนาจช่วยเหลือนักการเมืองที่โดนข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน


แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน