header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ผู้นำอาเซียนวางแผนเยือนพม่าสัปดาห์นี้

ASEAN News

1 มิถุนายน 2564 : ประธานและเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) วางแผนที่จะเดินทางเยือนพม่าในสัปดาห์นี้ แม้ว่ากลุ่ม 10 ชาติสมาชิกยังคงเห็นต่างเกี่ยวกับวิธีที่จะตอบสนองต่อการรัฐประหารในพม่า แหล่งข่าวทางการทูต 4 รายระบุ

อาเซียน กลุ่มประเทศที่มีพม่าเป็นสมาชิกและมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เป็นผู้นำความพยายามทางการทูตที่จะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 เดือนก่อน

ทหารได้ควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่า และจำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองท่ามกลางการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง ที่เป็นผลให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นและการล่มสลายของเศรษฐกิจ

เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ที่มาจากบรูไนเช่นกัน มีกำหนดพบหารือในสัปดาห์นี้กับรัฐบาลทหาร รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ตามการระบุของแหล่งข่าวที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ

แต่แหล่งข่าวเตือนว่า การเดินทางอาจล่าช้า หรือไม่เป็นไปตามกำหนดเนื่องจากอุปสรรคด้านโลจิสติกส์และด้านการทูตในนาทีสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าทั้งคู่มีแผนที่จะพบหารือกับฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหาร ที่หลายคนถูกจำคุกหรือหลบซ่อนตัวอยู่หรือไม่ ด้านโฆษกของอาเซียนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารของพม่าไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็น ส่วนคณะผู้แทนอาเซียนของบรูไนก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นเช่นเดียวกัน

การเดินทางตามที่วางแผนไว้นี้มีขึ้นหลังจากผ่านไปแล้วนานกว่า 5 สัปดาห์ นับจากที่ผู้นำอาเซียนได้ประกาศฉันทมติ 5 ข้อ ที่จะยุติความรุนแรง ส่งเสริมการเจรจา ส่งความช่วยเหลือ แต่งตั้งผู้แทน และส่งคณะผู้แทนไปเยือนพม่าเพื่อพบหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนขึ้นท่ามกลางความเห็นต่างภายในอาเซียนเกี่ยวกับบุคคลที่ดีที่สุดหรือบุคคลสำหรับตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของผู้แทน และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้แทน

เอกสารเชิงหลักการที่บรูไนเผยแพร่ต่อสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนก่อนเสนอให้ผู้แทนดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาที่เหลือของปีเท่านั้น จากนั้นจะได้รับการพิจารณาทบทวนโดยประธานอาเซียนลำดับถัดไปคือ กัมพูชา ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว 3 คนที่คุ้นเคยกับเนื้อหา นอกจากนี้ พวกเขายังกล่าวว่าเอกสารยังเสนอจำกัดงานของผู้แทนให้เป็นการไกล่เกลี่ย ไม่ตั้งฐานในพม่า และค่าใช้จ่ายของพนักงานดูแลโดยประเทศบ้านเกิดของผู้แทน เงื่อนไขที่หลายประเทศมองว่าบ่อนทำลายอำนาจของผู้แทนอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่า บรูไนไม่ได้ตอบสนองต่อข้อกังวลดังกล่าว

ทั้งนี้ อาเซียนดำเนินการตามการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ แต่อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มที่หลากหลายของระบอบประชาธิปไตย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงเผด็จการ และรัฐคอมมิวนิสต์แบบพรรคเดียว และไม่ค่อยมีจุดยืนที่เด็ดขาดต่อประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่ม

แหล่งข่าวทางการทูตทั้ง 4 กล่าวว่าอินโดนีเซียและไทย สองชาติสมาชิกที่สำคัญที่สุดของอาเซียน เห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับผู้แทนทางการทูต โดยอินโดนีเซียเสนอให้มีผู้แทนเพียงคนเดียวเป็นผู้นำปฏิบัติการเฉพาะกิจ ขณะที่ไทยที่ทหารมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่า ผลักดันให้มีผู้แทนหลายคน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของทั้งอินโดนีเซียและไทยต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขา

การประนีประนอมที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติอาเซียนส่วนใหญ่คือ มีผู้แทน 3 คน ที่น่าจะประกอบด้วยผู้แทนจากอินโดนีเซีย ไทย และบรูไน แหล่งข่าว 2 คน เผย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะพบหารือกันที่จีนในสัปดาห์หน้าเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนประจำปี หากความเห็นต่างของพวกเขาเกี่ยวกับผู้แทนยังไม่ได้รับการแก้ไขก่อนการประชุม แหล่งข่าวระบุว่า มีความคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปนอกรอบการประชุมสุดยอด

แม้จีนจะขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับพม่า แต่จีนกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนั้นไม่ใช่สิ่งที่จีนต้องการจะเห็นอย่างแน่นอน

 

นับตั้งแต่อาเซียนได้ประกาศฉันมติ 5 ข้อ รัฐบาลทหารของพม่ากล่าวว่าพวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอที่รวมถึงการเยือนของผู้แทนก็ต่อเมื่อประเทศมีเสถียรภาพแล้ว

นักการทูตและนักวิเคราะห์ระบุว่า จุดยืนของรัฐบาลทหารบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างของอาเซียนเรื่องความเป็นเอกภาพ แต่ยังสะท้อนความเป็นจริงทางการทูตของการเป็นสมาชิกของพม่า

“ทั้งหมดนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารเห็นด้วยอย่างเต็มที่” นักการทูตระดับภูมิภาครายหนึ่ง กล่าว

ความเห็นต่างของอาเซียนยังปรากฏในการปฏิเสธร่างมติของสหประชาชาติที่จะกำหนดมาตรการห้ามค้าอาวุธกับพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน แหล่งข่าว 3 รายระบุ หลายประเทศในอาเซียนพอใจกับการรวมมาตรการระงับการค้าอาวุธในมติที่ไม่มีผลผูกพัน แต่การคัดค้านที่นำโดยไทยและสิงคโปร์ทำให้อาเซียนร้องขอให้ถอนประโยคดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์

นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งในหมู่ชาติอาเซียนเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่พม่า ท่ามกลางความวิตกจากบางประเทศว่าการจัดส่งความช่วยเหลือโดยไม่มีความมุ่งมั่นจากพม่าที่จะจัดการเจรจาหารือกับฝ่ายตรงข้ามอาจถูกรัฐบาลทหารใช้ประโยชน์ในการโฆษณาชวนเชื่อ แหล่งข่าวระบุ.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน