header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

อาเซียนเผยบรรลุฉันทมติ 5 ข้อ หลังถก ‘มินอ่องหล่าย’ ยุติวิกฤตพม่า

ASEAN News

24 เมษายน 2564 :ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า พวกเขาได้ตกลงแผนกับหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารพม่าในวันนี้ (24) เพื่อยุติวิกฤตในประเทศ แต่เขาไม่ได้ตอบสนองอย่างชัดเจนต่อข้อเรียกร้องให้หยุดการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมประท้วงพลเรือน

“มันเกินความคาดหมายของเรา” นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย กล่าวกับนักข่าวหลังการประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุมด้วย

“เราพยายามที่จะไม่กล่าวหาฝ่ายเขามากเกินไปเพราะเราไม่สนใจว่าใครเป็นคนก่อ เราเพียงเน้นย้ำว่าความรุนแรงต้องยุติลง สำหรับเขา ปัญหาเกิดขึ้นจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เขาเห็นด้วยว่าความรุนแรงต้องยุติ” ผู้นำมาเลเซีย กล่าว

ผู้นำอาเซียนต้องการคำมั่นจากมิน อ่อง หล่าย ในการยับยั้งกองกำลังความมั่นคงของเขา ที่กลุ่มติดตามนักเคลื่อนไหวระบุว่า ได้สังหารคนไป 745 คน นับตั้งแต่ขบวนการอารยะขัดขืนเกิดขึ้นเพื่อท้าทายการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และพวกเขายังต้องการให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองด้วย

“เขาไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่ผมและผู้นำคนอื่นๆ หยิบยกขึ้นหารือ” ผู้นำมาเลเซียระบุ

ทั้งนี้ คำแถลงของบรูไนที่เป็นประธานอาเซียน ระบุถึงฉันทมติที่บรรลุ 5 ข้อ ประกอบด้วย การยุติความรุนแรง การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนพิเศษของอาเซียนที่จะอำนวยความสะดวกในการเจรจา การยอมรับความช่วยเหลือ และการเยือนพม่าของผู้แทนพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกล่าวถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในคำแถลง

“เขาบอกว่าเขา (มินอ่องหล่าย) รับฟังพวกเรา และเขาจะนำไปพิจารณาว่ามีจุดใดที่เป็นประโยชน์” นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ กล่าว ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์ Channel NewsAsia

“เขาไม่ได้ต่อต้านอาเซียนที่เล่นบทบาทสร้างสรรค์ หรือการเยือนของคณะผู้แทนอาเซียน หรือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ผู้นำสิงคโปร์ กล่าว

แต่ลีเสริมว่า กระบวนการนี้ยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน เพราะมีสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จคือยุติความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ทั้งนี้ ยังไม่มีความคิดเห็นใดๆ จาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

“การปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยุติความรุนแรง” ชาร์ลส ซานติอาโก หัวหน้าสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว

 

“อาเซียนต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนสำหรับมิน อ่อง หล่าย ในการยุติความรุนแรงหรือเตรียมพร้อมที่จะให้เขารับผิดชอบ” ซานติอาโก ระบุ

การรวมตัวกันของอาเซียนถือเป็นความพยายามระหว่างประเทศครั้งแรกที่จะบรรเทาวิกฤตในพม่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี พม่าเป็นหนึ่งใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ที่มีนโยบายการตัดสินใจที่เป็นฉันทมติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศสมาชิก

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลคู่ขนานของพม่า ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่สนับสนุนประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารของซูจีที่ถูกปลด และตัวแทนของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ระบุว่า กลุ่มยินดีกับฉันทมติของผู้นำอาเซียนในการจัดการกับวิกฤตในประเทศ และตั้งตารอการดำเนินการอย่างแน่วแน่มั่นคงของอาเซียนตามฉันทมติ และฟื้นฟูประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนพม่า.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน