header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

รัฐบาลทหารพม่าชี้ ‘เสถียรภาพ’ ในประเทศต้องมาก่อน ฉันทมติอาเซียนเรื่องความรุนแรงไว้ทีหลัง

ASEAN News

27 เมษายน 2564 : รัฐบาลทหารระบุว่า พวกเขาจะปฏิบัติตามคำร้องของภูมิภาคให้ยุติความรุนแรงก็ต่อเมื่อประเทศ ‘กลับคืนสู่เสถียรภาพ’ ขณะที่การต่อสู้ครั้งใหม่ปะทุขึ้นกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนทางตะวันออก

พม่าตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารขับไล่อองซานซูจี ผู้นำพลเรือนในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน และกองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างหนัก

ความรุนแรงที่ประชาชนมากกว่า 750 คน ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น ได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมกาประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ว่าด้วยวิกฤตพม่ากับผู้นำประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ยึดอำนาจ

บรรดาผู้นำได้ออกถ้อยแถลงฉันทมติ 5 ข้อ ที่เรียกร้องการยุติความรุนแรงโดยทันที และการเยือนพม่าโดยผู้แทนพิเศษของภูมิภาค

ในวันอังคาร (27) สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของพม่า กล่าวว่า จะพิจารณาข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของผู้นำอาเซียนเมื่อสถานการณ์ในประเทศกลับคืนสู่เสถียรภาพ และว่าข้อเสนอแนะของเพื่อนบ้านจะถูกพิจารณาในเชิงบวกหากอาเซียนสนับสนุนการดำเนินการโรดแมป 5 ขั้นตอนของรัฐบาลทหาร

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวกับเอเอฟพีว่า รัฐบาล ‘พอใจ’ กับการเดินทางดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาสามารถอธิบายสถานการณ์ที่แท้จริงให้แก่ผู้นำอาเซียนได้

แต่อาเซียนไม่มีชื่อในเรื่องของการมีอิทธิพลทางการทูต และผู้สังเกตการณ์ได้ตั้งคำถามว่าอาเซียนจะมีอิทธิพลต่อวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

สก็อต มาเซียล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่า เตือนว่า การตอบสนองของทหารต่อการประชุมสุดยอดที่กรุงจาการ์ตา แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการถอยหลังแล้ว

“อาเซียนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงที่นี่ได้ เนื่องจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหารที่ก้าวถอยหลังทั้งที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงเมื่อวันเสาร์” มาเซียล ระบุในทวิตเตอร์

“ควรมีการติดตามผลอย่างเร่งด่วนและกำหนดมาตรการกับรัฐบาลทหารสำหรับความล่าช้า มีเหตุผลที่ไม่มีใครในพม่าเชื่อถือกองทัพ” มาเซียล กล่าว

นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. กองกำลังความมั่นคงได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 750 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (AAPP) กลุ่มตรวจสอบท้องถิ่นที่ติดตามยอดผู้เสียชีวิต

แต่รัฐบาลทหาร ระบุว่า AAPP เป็นองค์กรผิดกฎหมาย และได้ให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ต่ำกว่ามาก ขณะเดียวกัน ก็กล่าวโทษความรุนแรงว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อจลาจล

สองวันหลังการประชุมอาเซียน เจ้าของร้านน้ำชาในเมืองมัณฑะเลย์ถูกยิงเสียชีวิตท่ามกลางการประท้วง ที่ทางการเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ตามการระบุของเจ้าหน้าที่กู้ภัย

ขบวนการต่อต้านการรัฐประหารได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ต่อสู้กับทหารมาเป็นเวลาหลายทศววรษเพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) หนึ่งในฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงเคลื่อนไหวมากที่สุด ได้ปะทะกับทหารในพื้นที่ของตนตามแนวชายแดนทางตะวันออกของประเทศมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ในวันอังคาร (27) การต่อสู้ปะทุขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงใกล้แม่น้ำสาละวิน โดยผู้อยู่อาศัยในฝั่งไทยรายงานว่าได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งพม่า

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารยืนยันการโจมตีโดยกองพลที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง โดยระบุว่า กลุ่มกบฏไม่ฟังคำสั่งกลางของกลุ่ม

“เราจะปฏิบัติการด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อไป” ซอ มิน ตุน กล่าว

 

แต่พะโด ซอ ตอ นี หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของ KNU เรียกถ้อยแถลงของรัฐบาลทหารว่าไร้สาระ และสำทับว่าทหารของพวกเขาได้เข้าทำลายฐานที่มั่นของกองทัพ

“นี่เป็นเทคนิกการแบ่งแยกแล้วปกครอง เราอนุมัติการโจมตีของกองพลที่ 5” พะโด ซอ ตอ นี กล่าว

เมื่อเดือนก่อน หลัง KNU โจมตีฐานทหารในพื้นที่เดียวกัน รัฐบาลทหารตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศหลายหนในเวลากลางคืน ที่นับเป็นการโจมตีทางอากาศครั้งแรกในรัฐกะเหรี่ยงในรอบกว่า 20 ปี

ชาวบ้านบางคนหลบหนีออกจากบ้านของตนเองไปยังเมืองอื่น ด้วยความหวาดกลัวการตอบโต้ของทหารพม่า ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านแม่สามแลบ ฝั่งไทย กล่าว

“ไม่มีใครกล้าอยู่ตรงนั้น พวกเขาหนีกันไปตั้งแต่เช้าเมื่อเสียงปืนเริ่มดัง” ชาวกะเหรี่ยงในไทย กล่าว

การต่อสู้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้พลเรือนมากกว่า 24,000 คน ต้องพลัดถิ่น รวมถึงอีกประมาณ 2,000 คน ที่ข้ามแม่น้ำไปหาที่หลบภัยในฝั่งไทย ก่อนถูกผลักดันกลับโดยเจ้าหน้าที่ชายแดน

ประมาณ 1 ใน 3 ของดินแดนของพม่า ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ชายแดน อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังเป็นของตนเอง

KNU แสดงความเห็นประณามการรัฐประหาร และระบุว่า พวกเขาให้ที่หลบภัยแก่ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างน้อย 2,000 คน ที่หลบหนีความไม่สงบในเมือง.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน