header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

นักธุรกิจหญิงขอท้าชิง ‘แม่ซู’ ตั้งพรรคใหม่ลงเลือกตั้ง บอก NLD ไม่ใช่ทางออกของพม่า

ASEAN News

23 กันยายน 2563 : หลังถูกปลดออกจากพรรคที่ ‘ยุ่งเหยิงและเผด็จการ’ ของอองซานซูจี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงรายหนึ่งกำลังแข่งขันกับวีรสตรีของพม่าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยกล่าวว่าประเทศจำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับทหาร ไม่ใช่ต่อต้านกัน เป็นที่คาดการณ์ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะส่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีกลับสู่อำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.นี้ การเลือกตั้งหนที่สองของประเทศนับตั้งแต่หลุดพ้นจากการปกครองของทหาร แต่ เต๊ต เต๊ต ข่าย (Thet Thet Khine) หวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้สร้างชื่อให้กับตัวเอง เต๊ต เต๊ต ข่าย เป็นทั้งนักกิจกรรม หมอ นักธุรกิจ และผู้ค้าอัญมณีทรงอิทธิพล ก่อนได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค NLD ในปี 2558 แต่ เต๊ต เต๊ต ข่าย ก็ต้องสูญเสียสถานภาพดังกล่าว หลังจากถูกปลดออกจากพรรค NLD เมื่อปีก่อน

 

เธอกล่าวว่าเป็นผลจากการพูดตามที่คิด และเธอหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนับสนุนพรรค People's Pioneer Party (PPP) ของเธอ “พรรค NLD ไม่ใช่ทางออกสำหรับประเทศอีกต่อไป” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าวกับเอเอฟพี ที่คฤหาสน์ของเธอในนครย่างกุ้ง ซึ่งประดับตกแต่งด้วยเสาสไตล์นีโอคลาสสิค โคมแชนเดอเลีย และเฟอร์นิเจอร์หรูหรา “แนวทางการดำเนินงานของพรรคนั้นทั้งวุ่นวายสับสนมากและมีความเผด็จการมาก คนๆ เดียวเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าว โดยระบุว่าความจงรักภักดีนั้นมีค่าเหนือความสามารถ แม้จะมีความผิดหวังต่อพรรค NLD ที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ แต่พรรค NLD อ้างพวกเขามีฐานผู้สนับสนุนที่ภักดีในกลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และสำหรับหลายๆ คน ซูจีคือพรรค NLD ซูจีนำรัฐบาลในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ คุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งยังเป็นแนวหน้าและศูนย์กลางในการต่อสู้กับโควิด-19 ของประเทศ เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าวว่าการพูดเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นนี้หมายความว่าเธอและญาติๆ ต้องเผชิญกับการข่มเหงบนโลกออนไลน์

 

ครอบครัวของเต๊ต เต๊ต ข่าย มั่งคั่งขึ้นจากอุตสาหกรรมทับทิม ในช่วงที่เธอเป็นนักศึกษาแพทย์ เธอได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวสนับสนุนเรียกร้องประชาธิปไตยในการเดินขบวนปี 1988 ก่อนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยทหาร ซึ่งการชุมนุมประท้วงครั้งนั้นได้สร้างชื่อให้กับซูจี ‘ที่ทำให้ซูจีกลายเป็นคนพิเศษของพวกเรา’ เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าวถึงความหลัง หลังการปราบปราม เต๊ต เต๊ต ข่ายเลือกที่จะดำเนินธุรกิจ แต่ได้กลับเข้าเส้นทางทางการเมืองหลังจากประเทศพ้นจากการปกครองของทหาร เวลานี้เธอเป็นหัวหน้าพรรคของตัวเอง ซึ่งเธออธิบายว่าพรรค PPP ของเธอมีความเป็นผู้นำร่วมกันในหมู่สมาชิก และค่าเฉลี่ยอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคอยู่ที่ 46 ปี พรรคของเธอให้คำมั่นว่าจะสร้างงานให้มากขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น และภาษีลดลง และดูเหมือนพรรคจะมีเป้าหมายที่ประชากรวงกว้าง ด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหลากหลาย ทั้งผู้สมัครที่แสดงตัวว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผยคนแรกของประเทศ ผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิม และผู้สมัครที่เป็นชาวพุทธแนวคิดสุดโต่ง “มีนักการเมืองไม่มากที่เข้าใจโลกธุรกิจ นั่นจึงเป็นข้อดีสำหรับเธอ” ขิ่น ซอ วิน นักวิเคราะห์ในนครย่างกุ้ง กล่าว

 

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการเชื่อมความแตกแยกระหว่างรัฐบาลพลเรือนและทหาร ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดซึ่งถูกสะท้อนออกมาโดยซูจี และพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด “หากพ่อแม่กำลังทะเลาะกัน ลูกๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” เต๊ต เต๊ต ข่าย อธิบาย และเสริมว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในกระบวนการสร้างรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้น กองทัพกุมอำนาจไว้อย่างมหาศาล ครอง 3 กระทรวงสำคัญ และได้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในสภา ที่ทำให้ทหารมีสิทธิยับยั้งการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมาย เต๊ต เต๊ต ข่าย ระบุว่าพรรคของเธอเสนอทางสายกลาง แต่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนานกว่าครึ่งศตวรรษทำให้หลายคนตั้งข้อกังขากับทหาร ที่จำคุกคนจำนวนนับพันจากความเชื่อของพวกเขา การปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และการบริหารประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ “ในอดีตพวกเขาตัดสินใจผิดและจัดการผิดพลาดไว้มาก” เต๊ต เต๊ต ข่าย ยอมรับ แต่ยืนยันว่าทหารรุ่นใหม่ยอมรับความเป็นมืออาชีพ ขิ่น ซอ วิน นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่าการทำตัวเป็นพันธมิตรกับทหารหมายความว่าเธอจะเสียการสนับสนุนไปส่วนหนึ่งด้วย

 

ทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิในการทำสงครามยาวนานหลายสิบปีกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และในปี 2560 ชาวมุสลิมโรฮิงญาเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการฆาตกรรม การข่มขืน และการวางเพลิงในปฏิบัติการของทหารที่เป็นผลให้เวลานี้พม่าถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ การพิจารณาคดีที่เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าวว่าไม่มีความจำเป็น “ทหารอาจมีปฏิกริยาตอบสนองที่รุนแรงเกินไป แต่มันไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการกวาดล้างชาติพันธุ์” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าว

 

แม้ชาวโรฮิงญาจะอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายศตวรรษแต่พวกเขาถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย “โรฮิงญาจะไม่มีวันเป็นชนพื้นเมืองของที่นี่” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าว แต่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาที่ครอบครัวอพยพมาอยู่นานกว่า 3-4 ชั่วอายุคน ควรได้รับการยอมรับ “พวกเขาควรได้สถานะพลเมืองและไม่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติอีกต่อไป” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญาทั้ง 600,000 คนที่ยังอยู่ในพม่า จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นเดียวกับครั้งก่อน ชะตากรรมของโรฮิงญาไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพรรคการเมืองส่วนใหญ่ รวมถึงพรรค PPP ของเต๊ต เต๊ต ข่าย พรรค PPP ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแค่ 1 ใน 3 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าวว่า เธอจะรู้สึกมีความสุขมาก ถ้าได้ที่นั่ง 5% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และยังยอมรับว่าการลงเลือกตั้งคราวนี้เป็นการซ้อมสำหรับการเลือกตั้งปี 2568 ซึ่งครั้งนั้นซูจีจะมีอายุ 80 ปี “ซูจีไม่เชื่อในเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง ดังนั้นหลังจากยุคของเธอ NLD จะล้มละลายในแง่ธุรกิจ แต่ฉันคิดว่าเธอจะยังครองอำนาจจนถึงวันสุดท้ายของเธอ” เต๊ต เต๊ต ข่าย กล่าว

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน