header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ชาวเขมรครวญน้ำโขงไม่มาตามนัด 2 ปีติด ทำโตนเลสาบเหือดแห้งกระทบชีวิตคนนับล้าน

ASEAN News

22 กรกฎาคม 2563 : รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำเผยว่า การไหลของน้ำจากแม่น้ำโขงมายังโตนเลสาบ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาช้าเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประมง และคุกคามแหล่งอาหารของผู้คนกว่าล้านชีวิต เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำสายสำคัญสำหรับทะเลสาบโตนเลสาบอาจยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงเดือนหน้า เนื่องจากความแห้งแล้งและเขื่อนไฟฟ้าหลายสิบแห่งในจีนและลาว ที่ถูกกล่าวโทษว่าขัดขวางการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง

 

โดยทั่วไปแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มปริมาณขึ้นในช่วงฤดูฝน และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโตนเลสาบของกัมพูชา ทำให้เกิดการไหลย้อนกลับเข้าสู่ทะเลสาบโตนเลสาบ เติมน้ำในทะเลสาบและประชากรปลาในแหล่งน้ำสำคัญนี้ แต่สิ่งที่ควรเกิดก็ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาผู้คนที่พึ่งพาทะเลสาบแห่งนี้ต้องดิ้นรนให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้

 

“ผมออกหาปลามา 2 คืน แต่จับปลาได้ไม่มาก” ชาวประมงเขมรอายุ 37 ปี กล่าว ขณะซ่อมแหอยู่ใต้ถุนบ้านในหมู่บ้านลอยน้ำกำปงเคลียง ตลอด 2 คืน เขาทำเงินได้เพียง 12,000 เรียล หรือประมาณ 3 ดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ถึง 12-25 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งเพียงพอที่จะดูแลสมาชิกครอบครัวทั้ง 6 คนของเขา ขณะเดียวกัน ภรรยาของชาวประมงผู้นี้ก็กำลังวิตกว่าวันเวลาเหล่านั้นจะหมดลงไป “หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราคงแย่ และเราก็เป็นหนี้คนอื่นอยู่ด้วย” ภรรยาชาวประมงกล่าว โดยอ้างถึงเงินที่กู้ยืมมา 1,000 ดอลลาร์

 

ตามปกติน้ำจะไหลเข้าทะเลสาบโตนเลสาบเป็นเวลา 120 วัน จนพื้นที่ของทะเลสาบขยายกว้างถึง 6 เท่า ก่อนที่น้ำจะไหลย้อนกลับไปยังแม่น้ำโขงเมื่อฤดูฝนสิ้นสุดลง ซึ่งโดยปกติจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ย. จากการคาดการณ์ฝนตกและข้อมูลปริมาณน้ำฝน รองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา กล่าวว่า การไหลเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำน่าจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นมาจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในปี 2562 และปฏิบัติการของเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนบน ที่มีอยู่ในลาว 2 แห่ง และในจีน 11 แห่ง “นับจากนี้ ช่วงเวลาที่น้ำไหลเปลี่ยนทิศจะยิ่งไม่เหมือนเดิมจากที่เคยเป็น” MRC ระบุ แต่ลาวและจีนกล่าวว่า เขื่อนสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคุมการไหลของน้ำ และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งรุนแรง

 

ด้านชาวประมงเขมรวัย 25 ปี กล่าวว่า เขาต้องการให้รัฐบาลกัมพูชาเจรจาการปล่อยน้ำจากเขื่อนเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 2,000 ครอบครัวในหมู่บ้านกำปงเคลียง "ผมหาปลาไม่ได้เลย ไม่มีน้ำ ไม่มีปลา" ชาวประมงกล่าว และว่า เขาต้องออกไปทำงานก่อสร้างที่เสียมราฐ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 55 กิโลเมตร ถึงแม้จะไม่มีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แต่พื้นที่แห่งนี้ก็แทบสิ้นหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นให้มาออกทริปล่องเรือจากหมู่บ้านกำปงเคลียง ซึ่งโดยปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 600 คนต่อวัน จุดให้บริการเรือท่องเที่ยวถูกทิ้งร้าง ส่วนเรือนำเที่ยวกว่า 130 ลำ จอดนิ่งอยู่บนพื้นละลานตา “ผู้คนในหมู่บ้านกำปงเคลียงเป็นชาวประมงที่ไม่มีปลาให้จับ ไม่มีอะไรให้พวกเขาทำเลย” เจ้าของเรือนำเที่ยวรายหนึ่ง กล่าว

 

 

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : Manager Online

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน