header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

‘ลี เซียนลุง’ เตรียมสละตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ 15 พ.ค. ส่งไม้ต่อให้ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

ASEAN News

16 เมษายน 2567 :  นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ประกาศในวันจันทร์ (15 เม.ย.) เตรียมสละเก้าอี้ผู้นำสิงคโปร์ในวันที่ 15 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะส่งมอบอำนาจบริหารต่อให้ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปีหน้า

หว่อง วัย 51 ปี ถูกจับตาเป็นว่าที่นายกฯ สิงคโปร์มาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. ปี 2022 และมีบทบาทโดดเด่นในการเป็นประธานร่วมของคณะทำงานของรัฐบาลเพื่อต่อสู้โควิด-19 ในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชนทั้งเข้าและออก รวมถึงการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่งผลให้ หว่อง ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากว่าทำให้สิงคโปร์ควบคุมการระบาดของโรคได้ดี และมียอดผู้เสียชีวิตต่ำมาก ขณะเดียวกัน มีการชี้แจงนโยบายต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใจอยู่ตลอดเวลา

หว่อง เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของ ลี ระหว่างปี 2005-2008 ก่อนจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ กระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในปี 2021 และรองนายกรัฐมนตรีในปี 2022

ในถ้อยแถลงซึ่งเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก นายกฯ ลี วัย 72 ปี ซึ่งกุมอำนาจปกครองสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2004 และยังเป็นบุตรชายคนโตของอดีตนายกฯ ลี กวนยู บิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์ เอ่ยถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจในครั้งนี้ว่าเป็น “ช่วงเวลาที่สำคัญ”

 

“ผมจะสละบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 พ.ค. ปี 2024 และรองนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง จะเข้าพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันเดียวกัน” ลี กล่าว

“ลอว์เรนซ์ และคณะผู้นำรุ่นที่ 4 ได้มุ่งมั่นทำงานอย่างหนักเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่”

ด้าน หว่อง ได้มีถ้อยแถลงเป็นคลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า “ผมเต็มใจรับความรับผิดชอบครั้งนี้ด้วยความนอบน้อมและสำนึกในหน้าที่ และขอให้สัญญาว่าจะทุ่มเททำหน้าที่นี้อย่างสุดความสามารถ”

นอกจากตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังแล้ว หว่อง ยังเป็นรองประธานกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ GIC และประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) อีกด้วย

หว่อง ยังเป็นผู้นำโครงการรณรงค์ที่ชื่อว่า Forward Singapore ซึ่งมุ่งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่เรื่องความยั่งยืน (sustainability) ความไม่เท่าเทียม ไปจนปัญหาการจ้างงาน

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่า หว่อง จะเป็นนายกฯ สิงคโปร์แบบไหน

“เอาจริงๆ ก็ยังไม่มีใครรู้เลย เพราะจนถึงตอนนี้ หว่อง ก็ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนเห็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองของเขา” ชง จา ลัน (Chong Ja Lan) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ให้ความเห็น

ชง เอ่ยเสริมว่า “ในอดีตที่ผ่านมา ผู้นำซึ่งไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักก็ยังอาจจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ทว่าตอนนี้สิงคโปร์อยู่ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ดังนั้นถ้าเป็นแบบเดิมก็อาจจะยังดีไม่พอ”
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน