header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

TikTok-FB ทำตามคำขอรัฐบาลเวียดนามลบโพสต์ต่อต้านรัฐเดือนเดียวหายไปกว่า 800 รายการ

ASEAN News

6 ตุลาคม 2566 : สื่อของทางการเวียดนามรายงานว่าสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง YouTube, TikTok และ Facebook ได้ลบโพสต์ต่อต้านรัฐหรือข้อมูลเท็จเกือบ 800 รายการในเวียดนามในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาตามคำร้องขอของรัฐบาล

วิดีโอบนยูทูปประมาณ 380 รายการ โพสต์เฟซบุ๊ก 364 รายการ และลิงก์ติ๊กต็อก 33 รายการ ถูกลบหรือบล็อกระหว่างกลางเดือน ส.ค. ถึงกลางเดือน ก.ย. หนังสือพิมพ์แถ่งเนียนที่รัฐควบคุมระบุในรายงานที่อ้างคำกล่าวของกระทรวงข้อมูลและการสื่อสาร

“โพสต์บางส่วนมีเนื้อหาเป็นลบและเชิงลบต่อพรรค รัฐ องค์กร และบุคคล รวมถึงหมิ่นประมาทผู้นำ” รายงานระบุ

รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามไม่อดทนยินยอมต่อความเห็นต่างต่อการปกครองแบบพรรคเดียว และรัฐใช้ข้อจำกัดกับสื่อสังคมออนไลน์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

สื่อทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และนักวิจารณ์ที่มีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์มักตกเป็นเป้าอยู่เป็นประจำ

เมื่อวันพฤหัสฯ กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารได้ประกาศผลการสอบสวนติ๊กต็อก ที่มีผู้ใช้งานในเวียดนามราว 50 ล้านราย หลังจากเมื่อต้นปี กระทรวงระบุว่าจะตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นพิษในแอปพลิเคชันแชร์วิดีโอยอดนิยมของจีน

“กระบวนการเซ็นเซอร์เนื้อหาของติ๊กต็อกไม่มีประสิทธิภาพ ข้ามเนื้อหาบางส่วนที่ละเมิดกฎหมายเวียดนาม” กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารระบุในคำแถลงทางออนไลน์

กระทรวงระบุว่าแอปพลิเคชันต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็ก และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาลบบัญชีผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีทั้งหมด

แอปพลิเคชันระบุว่าผู้ใช้ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถมีบัญชีได้ แต่กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารกล่าวว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าที่จำกัดไว้ยังคงเข้าถึงแพลตฟอร์มได้

 

กระทรวงยังขอให้ทางการเวียดนามติดตาม ‘กิจกรรมการบริการข้ามพรมแดน’ ของติ๊กต็อกสิงคโปร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงระบุว่ามีส่วนช่วยจัดการแอปพลิเคชันในเวียดนาม

ในปี 2563 องค์การนิรโทษกรรมสากลเตือนในรายงานว่าเฟซบุ๊กและกูเกิลกำลังกลายเป็น ‘เขตปลอดสิทธิมนุษยชน’ อย่างรวดเร็วในเวียดนาม และกล่าวหาว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเซ็นเซอร์ความเห็นต่างและการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติในประเทศ.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน