header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

‘วิกฤตพม่า’ ยังเป็นประเด็นหารือหลักในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในอินโดนีเซีย

ASEAN News

5 กันยายน 2566 :  บรรดาผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบหารือกันที่อินโดนีเซียวันนี้ (5) เพื่อแสวงหาเสียงที่เป็นเอกภาพต่อวิกฤตพม่าที่ดำเนินมายาวนานหลายปี ในขณะที่ฟิลิปปินส์กล่าวว่า พร้อมที่จะแทนที่ผู้ปกครองทหารของพม่าในฐานะประธานกลุ่มในปี 2569

พม่าได้รับความเสียหายจากความรุนแรงนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจี และเปิดฉากการปราบปรามอย่างนองเลือดต่อผู้เห็นต่าง

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ถูกนักวิจารณ์ประณามมายาวนานว่าเป็นแค่เวทีพูดคุยนั้น มีความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องวิธีการจัดการกับผู้ปกครองของพม่า และประเด็นอื่นๆ รวมถึงการขยายการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้

 

“อาเซียนเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือกับใครก็ตามเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง” ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียกล่าวเปิดการประชุมในกรุงจาการ์ตา

“เราต้องเป็นกัปตันเรือของเราเองจึงจะบรรลุสันติภาพ” ผู้นำแดนอิเหนา กล่าวเสริม

ร่างแถลงการณ์ร่วมที่เอเอฟพีได้เห็นยังเว้นว่างเนื้อหาในส่วนของพม่า เนื่องจากขาดฉันทมติในกลุ่มสมาชิก 10 ประเทศ ที่ความพยายามสร้างสันติภาพยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ

แต่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มะนิลาพร้อมที่จะก้าวเข้ามาเป็นประธานกลุ่มในปี 2569 แทนพม่า โดยไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผล

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569” ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวกับผู้นำคนอื่นๆ ตามที่ระบุในคำแถลงของทำเนียบประธานาธิบดี

นักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 คน กล่าวว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากบรรดาผู้นำ ดังนั้นวิกฤตพม่าจะไม่แย่งชิงวาระของกลุ่มและป้องกันไม่ให้พันธมิตรจากภายนอกเข้าร่วมการประชุมของพวกเขา

“สิ่งนี้ได้ตัดสินใจไปแล้ว มีการประกาศในการประชุมผู้นำแล้ว และไม่มีการคัดค้าน” นักการทูตรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว

อาเซียนได้เขียนจดหมายถึงฟิลิปปินส์เพื่อสอบถามว่าเต็มใจที่จะรับตำแหน่งประธานในปีนั้นหรือไม่ และมะนิลาตอบรับ นักการทูตกล่าว

อินโดนีเซียที่เป็นประธานกลุ่มปีนี้ได้ผลักดันให้รัฐบาลทหารที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่ม บังคับใช้แผน 5 ข้อ ที่ตกลงกันเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อยุติความรุนแรงและเริ่มการเจรจาอีกครั้ง

นักการทูตคนที่ 2 ที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อเช่นกัน กล่าวว่าไม่มีการคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ หลังจากการประเมินของผู้นำเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผน

“การเปลี่ยนแปลงจะสะท้อนให้เห็นในบางส่วนของเอกสารผลลัพธ์ของอาเซียน” นักการทูตระบุ

ก่อนหน้านี้ พม่าได้ถอนตัวจากการเป็นประธานอาเซียนในปี 2549 เพื่อกันไม่ให้กลุ่มได้รับความเสียหายจากการคว่ำบาตรของตะวันตก และเก้าอี้ประธานตกเป็นของฟิลิปปินส์ในปีนั้น

พม่าเป็นประธานกลุ่มในปี 2557 ภายใต้การบริหารของเต็งเส่ง ประมุขแห่งรัฐที่เป็นพลเรือนคนแรกของประเทศในรอบกว่า 50 ปี

นักการทูตรายหนึ่งกล่าวว่า สมาชิกอาเซียนบางคนกำลังผลักดันให้รัฐบาลทหารได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมอีกครั้ง

ไทยได้จัดการประชุมฝ่ายเดียวกับรัฐบาลทหารและซูจีเมื่อไม่นานนี้ ที่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในกลุ่มมากขึ้น

บางคนในกลุ่มกลัวว่าการแยกเจรจาของไทยจะบ่อนทำลาย ‘การทูตเงียบ’ ของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน โดยจาการ์ตาจัดการประชุมกับผู้มีบทบาทในความขัดแย้งหลากหลายกลุ่มในช่วงปีที่ผ่านมา

แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทุกความพยายามในการพูดคุยกับรัฐบาลทหารเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าวควรได้รับการต้อนรับ

“ผมคิดว่าอินโดนีเซียและไทยจำเป็นต้องเข้ากันได้ในเรื่องนี้ และอินโดนีเซียจำเป็นต้องให้พื้นที่กับผู้อื่นที่อาจเข้าถึงได้ มันไม่ควรเป็นการแข่งขัน” อดีตเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำสหรัฐฯ กล่าวกับนักข่าว

การกระทำของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ที่อ้างสิทธิเกือบทั้งหมดของน่านน้ำจะยังเป็นประเด็นสำคัญ ตามที่ปรากฏในร่างแถลงการณ์ร่วม

จีนได้เผยแพร่แผนที่อย่างเป็นทางการฉบับใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกที่ลึกซึ้งขึ้นระหว่างปักกิ่งและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับน่านน้ำแห่งนี้

แผนที่ดังกล่าวนำมาซึ่งการตำหนิประณามอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

ร่างแถลงการณ์ระบุว่า ผู้นำจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการถมที่ กิจกรรมต่างๆ และเหตุการณ์ร้ายแรงในน่านน้ำ

แหล่งข่าวทางการทูตอีกรายหนึ่งกล่าวว่าผู้นำจะมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายตามที่ปรารถนาของการสรุปการเจรจากับจีนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ภายในปี 2569

ในปลายสัปดาห์ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ประเทศ ที่จะรวมถึงสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย

ผู้แทนจากปักกิ่งและมอสโกคือนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เก ลาฟรอฟ ขณะที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยจะเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมกับนักการทูตระดับสูงของมอสโก.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน