header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ธนาคารโลกชี้ความรุนแรงหลังรัฐประหารทำระบบการศึกษาพม่าอยู่ใน ‘วิกฤต’

ASEAN News

19 กรกฎาคม 2566 :  หลังความรุนแรงปะทุขึ้นในพม่าอันเนื่องจากการรัฐประหารปี 2564 นักเรียนมัธยมปลายส่วนใหญ่ในเมืองทานตะลาง ที่พื้นที่ห่างไกล ทิ้งการเรียนและจับอาวุธเพื่อสนับสนุนการก่อจลาจลระดับรากหญ้าต่อต้านกองทัพ

ทั่วทั้งพม่า หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกทำลายจากการต่อสู้ซึ่งขยายวงกว้างนับตั้งแต่รัฐประหาร มีนักเรียนเพียง 22% จากนักเรียนที่มีสิทธิศึกษาต่อทั้งหมด เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ธนาคารโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่ในเดือน ก.ค.

โดยรวมแล้วอัตราการลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษาของพม่าลดลงกว่า 12% ระหว่างปี 2560-2566 ธนาคารโลกระบุ ซึ่งเน้นย้ำถึงวิกฤตในการเข้าถึงการศึกษา

 

โฆษกรัฐบาลทหารไม่ได้รับสายโทรศัพท์ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น

พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายในเดือน ก.พ.2564 ที่กองทัพเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ที่นำไปสู่การลุกฮืออย่างกว้างขวางที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน

ขณะที่การลงทะเบียนเรียนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหลังการระบาดของโควิด-19 แต่เด็กจำนวนมากในพม่าไม่ได้กลับไปโรงเรียน ธนาคารโลกระบุจากการสำรวจครัวเรือนเกือบ 8,500 ครัวเรือน

ครูและนักเรียนในพม่าเป็นแนวหน้าขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของทหารมานานหลายทศวรรษ ครูหลายคนเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนตั้งแต่การรัฐประหาร ทำให้ภาคส่วนการศึกษาหยุดชะงัก

“เมื่อพิจารณาจากอัตราการสมัครเรียนเพิ่มสูงขึ้นในทุกระดับชั้นของประเทศก่อนปี 2560 การลดลงของจำนวนเด็กที่เข้าสมัครเรียนระหว่างปี 2560-2566 ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตในการเข้าถึงการศึกษา” รายงานระบุ

ในบางพื้นที่ของพม่า แม้แต่นักเรียนที่กลับเข้าชั้นเรียนก็ยังเผชิญกับความยากลำบาก ที่ครูและอาสาสมัครพยายามที่จะรักษาการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ที่ประสบกับความรุนแรง

“ความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับเราคือการขาดแคลนครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม” ครูจากเมืองทานตะลาง กล่าว

ครูอาสาสมัครราว 1,100 คน กำลังช่วยให้ความรู้กับนักเรียนราว 17,000 คนในเมืองทานตะลาง ในห้องเรียนที่สร้างขึ้นจากกรอบไม้และแผ่นผ้าพลาสติก

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองขิ่นอู เขตสะกาย อดีตครูและอาสาสมัครสอนนักเรียนราว 200 คนในห้องเรียนชั่วคราวที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่

ความกังวลที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาคือความปลอดภัยของนักเรียนเพราะการมีอยู่ของทหารในพื้นที่ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกล่าวโดยขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

“พวกเขามักยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้าน สร้างความหวาดกลัวและความทุกข์ยากให้พวกเขา เราต้องคิดหาเส้นทางหลบหนีที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังเหล่านี้เข้ามาใกล้” ครูคนเดิมกล่าว

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน