header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ประธานอาเซียนรับไม่มีความคืบหน้าอย่างแท้จริงในแผนสันติภาพพม่า

ASEAN News

11 พฤษภาคม 2566 :  ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ยอมรับอย่างเศร้าใจต่อบรรดาผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันพฤหัสฯ (11) ว่าไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามแผนสันติภาพเพื่อยุติการนองเลือดในพม่า พร้อมกันนี้ ยังได้เรียกร้องการยุติความรุนแรง ที่รวมถึงการโจมตีทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

ความรุนแรงในพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารครอบงำการประชุมเป็นเวลา 3 วันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) บนเกาะฟลอเรส ของอินโดนีเซีย

นับตั้งแต่กองทัพพม่าขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีในปี 2564 กองทัพดำเนินการปราบปรามนองเลือดต่อผู้เห็นต่าง ที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน

อาเซียนเป็นหัวหอกในความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤต แต่ความพยายามส่วนใหญ่ไร้ผลที่จะดำเนินการตามแผน 5 ข้อที่ตกลงกับพม่าเมื่อ 2 ปีก่อน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวในวันสุดท้ายของการประชุมในเมืองประมง ลาบวน บาโจ ว่าการดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้อนั้นไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

วิโดโดยืนยันว่าสมาชิกอาเซียนจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ไขวิกฤต

“ไม่สามารถมีฝ่ายใดไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกอาเซียนที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งในพม่า ความรุนแรงต้องยุติลง” ผู้นำแดนอิเหนา กล่าวกับนักข่าว

แต่ประเทศสมาชิกเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีจัดการกับปัญหา โดยรายงานภายในเกี่ยวกับการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มระบุว่า มีบางประเทศต้องการให้เชิญรัฐบาลทหารกลับเข้าการประชุมอาเซียนเพราะ ‘ช่วงเวลาของการโดดเดี่ยวได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว’

 

พม่ายังคงเป็นสมาชิกของกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน แต่ถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพ

กองทัพเมินเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม ที่รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่ กองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

การโจมตีทางอากาศกับหมู่บ้านในฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเมื่อเดือนก่อนที่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตราว 170 คน ก่อให้เกิดเสียงประณามไปทั่วโลก

การเป็นประธานกลุ่มของจาการ์ตาในปีนี้สร้างความหวังว่าอาเซียนจะประสบความสำเร็จในการผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยใช้น้ำหนักทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ทางการทูตของประเทศ

แต่นอกเหนือจากการแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุนองเลือดที่ยังคงดำเนินอยู่ ผู้นำอาเซียนที่การประชุมสุดยอดไม่ได้เสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้ก้าวไปข้างหน้า

คำแถลงปิดการประชุมสุดยอดไม่ได้ระบุกรอบเวลาหรือแผนสำหรับการดำเนินการฉันทมติ 5 ข้อ

มีความวิตกว่าความพยายามสร้างสันติภาพอาจหยุดชะงักในปีหน้าเมื่อลาวเป็นประธานกลุ่ม

ผู้นำอาเซียนยังได้หารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงในทะเลจีนใต้และการเจรจาที่ดำเนินอยู่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่มีเป้าหมายลดความเสี่ยงของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

ปักกิ่งอ้างสิทธิเหนือทะเลเกือบทั้งหมด ขณะที่ 4 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน อ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลดังกล่าว

“เราต้องทำให้แน่ใจว่าทะเลจีนใต้จะไม่กลายเป็นจุดเชื่อมโยงของความขัดแย้งทางอาวุธ” ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ กล่าวในที่ประชุม

อาเซียนถูกนักวิจารณ์ประณามว่าเป็นเพียงเวทีพูดคุย และกฎบัตรว่าด้วยฉันทมติและการไม่แทรกแซงของกลุ่มขัดขวางความสามารถในการดำเนินการ

นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย กล่าวว่าถึงเวลาที่จะต้องทบทวนหลักการไม่แทรกแซงเพื่อให้อาเซียนมีความสามารถในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น วิกฤตพม่า ที่ส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน