header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

สหรัฐถอดไทยออกจากบัญชีดำค้ามนุษย์

ASEAN News

30 มิถุนายน 2559 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิป รีพอร์ต (Trafficking in Persons Report) ประจำปี พ.ศ. 2559 เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งประเทศไทยถูกถอดถอนออกจากบัญชีดำ "เทียร์ 3" ยกระดับขึ้นสู่ "เทียร์ 2 เฝ้าระวัง" แม้ว่าการบังคับใช้แรงงานจะยังมีอยู่แพร่หลาย ในประเทศที่อุตสาหกรรมการประมงมีผลกำไรมหาศาล     

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐทำการประเมิน ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ทั่วโลกประจำปี จากการตรวจสอบความพยายามของรัฐบาล 188 ประเทศทั่วโลก ในการต่อสู้กับการเป็นทาสในยุคปัจจุบัน รายงานถูกเปิดเผยโดย นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กล่าวว่า รายงานของสหรัฐเป็นความพยายามที่จะดึงความสนใจของสาธารณชน ต่อสภาวะและขอบเขตทั้งหมดของอุตสาหกรรมค้ามนุษย์ ที่มีมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ     

รายงานทิป รีพอร์ต ประจำปีนี้ คูเวตและไทยถูกยกระดับจาก "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ขึ้นสู่ "เทียร์ 2 เฝ้าระวัง" บ่งชี้ถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีของไทยนั้น รายงานข่าวระบุว่า การเลื่อนชั้นของไทย ซึ่งปกครองโดยรัฐบาลที่นำโดยคณะทหาร จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรมายาวนาน และก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินคดีเอาผิด และลงโทษ ต่อผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์มากขึ้น   

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยกย่องรัฐบาลไทย ที่ดำเนินการปฏิรูปแรงงาน ด้วยการตัดสินลงโทษขบวนการค้ามนุษย์ 241 รายในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นจาก 104 รายในปี 2557 และจากการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ทางการ 34 คนในปี 2558 เพิ่มขึ้นจาก 7 คนในปี 2557     

แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ในรายงานยังคงยืนยันว่า เจ้าหน้าที่บางส่วนของรัฐบาลเกี่ยวพันโดยตรงกับการค้ามนุษย์  และแรงงานอพยพ โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีเอกสาร ไม่กล้ารายงานความผิดอาญาค้ามนุษย์ หรือไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ "การบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ยังคงปรากฎอยู่อย่างแพร่หลาย" รายงานทีไอพี ระบุ     

นายแคร์รี กล่าวยืนยันว่า การจัดทำบัญชีรายชื่อประเทศ ในรายงานค้ามนุษย์ประจำปี ยึดหลักตามข้อเท็จจริง และบรรทัดฐานที่กำหนดไว้ โดยไม่มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐถูกวิจารณ์ในรายงานของแต่ละปีที่ผ่านมา     

 

รายงานทิป รีพอร์ต ประจำปีนี้ มี 8 ประเทศที่ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีดำเทียร์ 3 ทำให้กลุ่มประเทศที่สหรัฐเชื่อว่าไม่ดำเนินการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานทาส มีทั้งหมด 26 ประเทศ โดย 8 ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำใหม่ ประกอบด้วย เมียนมา อุซเบกิสถาน จิบูติ ไฮติ ปาปัวนิวกินี ซูดาน สุรินัม และตเร์กเมนิสถาน     

หลังการประกาศรายงานอย่างเป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ มีเวลา 90 วันในการพิจารณา ว่าสมควรจะใช้มาตรการคว่ำบาตร ต่อประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำหรือไม่ ซึ่งตามปกติแล้วสหรัฐมักเลือกที่จะไม่ใช้ โดยยึดหลักผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ เหมือนกับที่เคยปฏิบัติต่อประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว     

ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงจากนานาชาติ เพื่อให้ชำระล้างอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล ที่มีมูลค่าปีละ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานของสำนักข่าวเอพีเปิดโปงกระบวนการบังคับใช้แรงงานทาส ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย และในเดือนนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เตือนรัฐบาลไทย ให้ดำเนินการ "ในทันทีและอย่างจริงจัง" ในการปรับปรุงการทำประมง และการปฏิบัติต่อแรงงาน ซึ่งหากไทยละเลยอาจถูกอียูคว่ำบาตรอาหารทะเลไทย ภายในสิ้นปีนี้     

ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีที่รัฐบาลสหรัฐให้การยอมรับ ความคืบหน้าและความพยายามอย่างเห็นได้ชัด ของทางการไทย ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เดลินิวส์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน