header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ฝ่ายค้านเมียนมาร์อาจคว่ำบาตรเลือกตั้งเดือน พ.ย.

ASEAN News

4 เมษายน 2558 : สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเมียนมาร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ในห้องประชุมของอาคารรัฐสภาเมียนมาร์ ในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันศุกร์ ว่า พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอ อาจจะไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ ที่คาดว่าจะมีขึ้นประมาณเดือน พ.ย. ปีนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะทหาร ที่มีบทบัญญัติห้ามเธอลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ

นางซูจี อดีตผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2534 กล่าวย้ำว่า พรรคเอ็นแอลดี "พร้อมที่จะเป็นรัฐบาล" บริหารประเทศ แต่ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผุ้นำเมียนมาร์ ไม่มีความจริงใจในการปฏิรูป และอาจพยายามเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งประเด็นนี้เธอกล่าวว่า ความชื่นชมของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนของเมียนมาร์ ซึ่งครองอำนาจในปี 2554 หลังการปกครองของคณะทหารนานเกือบ 50 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไม่เดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจัง

 

 

นางซูจีกล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการปรองดองกับกองทัพ ที่จำกัดเสรีภาพเธอในบ้านพักรวมเวลา 15 ปี จนกระทั่งถึงปี 2553 "เราไม่คิดว่าการคว่ำบาตรเลือกตั้ง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด" นางซูจี กล่าว เมื่อถูกถามว่าพรรคเอ็นแอลดีจะเข้าร่วมการเลือกตั้งหรือไม่ หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ "แต่ก็มีความเป็นไปได้ ที่เราจะไม่เข้าร่วม เราเปิดโอกาสสำหรับทุกทางเลือก" อย่างไรก็ตาม เธอย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. ว่า ถือเป็นบททดสอบที่แท้จริง ว่าเมียนมาร์จะอยู่บนเส้นทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งอย่างแท้จริงครั้งสุดท้ายในปี 2533 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แต่ถูกกองทัพยึดอำนาจ เอ็นแอลดีคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2553 ซึ่งถูกมองว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างแพร่หลาย และทำให้ เต็ง เส่ง อดีตนายทหารยศพลเอก และหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกองทัพ ได้ขึ้นครองอำนาจ นางซูจี กล่าวว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง "มีความจริงใจ" ในการปฏิรูป ระหว่างที่เธอและเต็ง เส่ง พบหารือกันเมื่อปี 2554 แต่ปัจจุบันนี้เขาไม่สนใจในการปฏิรูปแล้ว และเขาอาจจะใช้การเจรจาสันติภาพ กับกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อย เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็เป็นได้.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เดลินิวส์  

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน