header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ลาวแง้มเขื่อนกั้นน้ำโขง 2 เมืองปากลายพร้อมแล้ว อพยพคน 3,500 นา 4.8 แสนไร่จมน้ำ

ASEAN News

3 สิงหาคม 2557 : ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการแขวงไซยะบูลี ของลาว ได้เปิดเผยท่าทีแสดงความพร้อมที่จะก่อสร้างเขื่อนปากลาย ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงทั้งสายแห่งที่ 2 ถัดจากเขื่อนไซยะบูลี ที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้ เขื่อนแห่งใหม่ล่าสุด จะส่งผลกระทบต่อราษฎร 7 หมู่บ้าน เกือบ 800 ครอบครัว ซึ่งจะต้องโยกย้ายคนกว่า 3,500 คน ไปตั้งถิ่นฐานใหม่

เขื่อนปากลาย กำลังจะทำให้น้ำท่วมเทือกไร่นาสวนของราษฎรใน 2 แขวง คือ ไซยะบูลี กับแขวงเวียงจันทน์ รวมกว่า 485,000 ไร่ สำนักข่าวของทางการรายงาน

การประชุมปรึกษาหารือประเมินความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนปากลาย จัดขึ้นวันที่ 25 ก.ค.ที่้ห้องประชุมสำนักงานปกครองแขวง นายยันยง สีปะเสิด รองเจ้าแขวงไซยะบูลี กับนางสิงคำ คงสะหวัน รองเจ้าแขวงเวียงจันทน์ ผู้แทนบริษัทออกแบบและก่อสร้างจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าเมือง (นายอำเภอ) หัวหน้าแผนกที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สำนักข่าวสารประเทดลาวรายงาน

 

 

ตามแผนการดั้งเดิมนั้น เขื่อนปากลาย จะมีกำลังปั่นไฟฟ้า 1,320 เมกะวัตต์ จะสร้างขึ้นที่จุดบ้านผาเลียบ อยู่เหนือเมืองปากกลาย ขึ้นไปราว 30 กิโลเมตร ในแขวงไซยะบูลี ภายใต้สัมปทานของบริษัท CIEC และ บริษัทซิโนไฮโดร (Sinohydro) โดยบริษัทจากทั้งสองแห่งได้เซ็นบันทึกช่วยความจำกับรัฐบาลลาวเพื่อสำรวจศึกษาโครงการนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2550

เขื่อนปากลาย จะเป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น (Run-off-River) แบบเดียวกันกับเขื่อนไซยะบูลี ที่กั้นลำน้ำโขงซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปราว 130 กิโลเมตร เขื่อนสูง 51 เมตร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 240 เมตร กำลังจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำยาว 110 กม. และเอ่อล้นขึ้นท่วม 2 ฝั่งในหลายพื้นที่ กำลังจะมีการก่อสร้างบันไดปลาโจนสำหรับการอพยพของฝูงปลา เช่นเดียวกันกับเขื่อนไซยะบูลี

ขปล.ได้รายงานการประชุมปรึกษาครั้งล่าสุดนี้ว่า เขื่อนมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์ ก่อสร้างภายใต้สัมปทาน 30 ปี จะใช้เครื่องปั่นไฟชนิด Bulb จำนวน 15 หน่วย กำลังติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องกำลังการผลิตดังกล่าว

เขื่อนปากกลาย “กำลังจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมชาติ เช่นการเปลี่ยนแปลงทางไหลของน้ำ การประมง ระบบนิเวศ การโยกย้ายจัดสรร (ที่อยู/ที่ทำกิน/สวัสดิการ) ของประชาชน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และอื่นๆ” รายงานระบุ

เขื่อนจะทำให้ต้องโยกย้ายราษฎรรอบๆ บริเวณที่ตั้งเขื่อนในเขตเมืองปากลาย จำนวน 3 หมู่บ้าน รวม 409 ครอบครัว จำนวน 1,860 คน กับอีก 4 หมู่บ้าน ในเขตเมืองแมด แขวงเวียงจันทน์ ที่อยู่ติดกัน จำนวน 380 ครอบครัว รวมราษฎร 1,685 คน ขปล.กล่าว

การก่อสร้างเขื่อนยังจะส่งผลกระทบถึงสาธารณสมบัติอีกจำนวนมาก รวมทั้งโรงเรียน วัดวาอาราม น้ำจะท่วมถนนหน 84 จุด ในเมืองปากลาย อีก 116 จุด ในแขวงเวียงจันทน์ และจะท่วมท้นเทือกไร่นาสวนของราษฎรอีกกว่า 4,850 เฮกตาร์ ในเมืองปากลาย และ 2,920 เฮกตาร์ ในเมืองแมด รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย เจ้าของโครงการจะต้องหาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้ใหม่ จัดหาที่ดินเพื่อการเกษตรให้แก่ทุกครอบครัว รับประกันให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นกว่าเดิม รับประกันการรักษาระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำนักข่าวของทางการกล่าว.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน