header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

มาเลเซียเผยเครื่องบินที่สูญหาย "จงใจ" เปลี่ยนเส้นทาง

ASEAN News

16 มีนาคม 2557 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย แถลงถึงความคืบหน้าในภารกิจค้นหาเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ซึ่งหายสาบสูญไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มี.ค. พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ขณะเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มุ่งหน้ากรุงปักกิ่ง เผยเรดาร์ของกองทัพสามารถจับสัญญาณของเครื่องบินได้ครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 08.11 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับ 07.11 น. ตามเวลาในไทย หรือกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งหลังเครื่องบินส่งสัญญาณกลับมายังหอบังคับการบินพลเรือนเมื่อเวลา 01.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับ 00.30 น. ตามเวลาในไทย

ประเด็นต่อมาเกี่ยวกับการที่เรดาร์ของกองทัพจับสัญญาณเครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางจากทะเลจีนใต้มุ่งหน้าทิศตะวันตกแทน ผู้นำมาเลเซียยืนยันว่าเป็นความจริง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นฝีมือของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมเครื่องบินในระดับสูงไม่ต่างจากนักบินหรืออาจเหนือกว่า เนื่องจากมีความรู้ลึกซึ้งถึงขั้นทราบวิธีหลบเลี่ยงการตรวจจับสัญญาณเรดาร์ของทั้งกองทัพและหอบังคับการบินพลเรือน ตลอดจนการตัดสัญญาณระบบเรดาร์ทรานสพอนเดอร์ ที่คอยแจ้งเพดานบินและพิกัดของเครื่องบิน ตามด้วยการตัดระบบสื่อสารและรายงานสถานะอากาศยาน ( เอซีเออาร์เอส ) ในเวลาห่างกันราว 14 นาที คล้ายเกิดขึ้นอย่าง "จงใจ"

 

กระนั้นเครื่องบินยังคงส่งสัญญาณเรดาร์ในระดับอ่อนมากกลับมายังภาคพื้นได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่องราว 4-5 ชั่วโมง ก่อนหายไปอย่างถาวร ซึ่งสัญญาณที่ส่งมาครั้งสุดท้ายบ่งชี้ว่า เครื่องบินลอยอยู่เหนือทะเลแห่งหนึ่งหลังเปลี่ยนเส้นทางมาทางทิศตะวันตก ที่มีการคาดการณ์กันแล้วว่า น่าจะเป็นบริเวณมหาสมุทรอินเดีย หน่วยค้นหาจึงตัดสินใจยุติภารกิจการค้นหาในทะเลจีนใต้ แล้วมุ่งเน้นการตรวจสอบทั้งทางบกและทางน้ำ ไล่ตั้งแต่ช่องแคบมะละกาเรื่อยไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย และอาจไกลจนถึงคาซัคสถาน

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังไม่ขอยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้าย แต่ข้อมูลดิบทั้งหมดจากดาวเทียมทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ก่อเหตุเตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยอาจเป็นนักบินเองหรือผู้ที่อยู่บนเครื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศกำลังเร่งตรวจสอบประวัตินักบิน 2 คน ลูกเรือ 10 คน และผู้โดยสารทั้ง 227 คนอีกครั้ง

การจี้เครื่องบินที่เป็นที่สนใจไปทั่วโลกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา บนเที่ยวบินของเอธิโอเปีย แอร์ไลน์ส จากกรุงแอดดิสอาบาบามุ่งหน้ากรุงโรม แต่เครื่องบินกลับมาขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินเจนีวาแทน โดยผู้ก่อเหตุคือนักบินผู้ช่วยซึ่งมอบตัวและให้การภายหลังว่า รู้สึกคล้าย "ถูกข่มขู่" จึงต้องการลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นติดต่อหอบังคับการบินของสนามบินเจนีวาเพื่อแจ้งขอเติมน้ำมัน ก่อนประกาศจี้เครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม การก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินครั้งเลวร้ายที่สุด หนีไม่พ้นการที่สมาชิกกลุ่มอัล-กออิดะห์ 19 คน กระจายกำลังกันจี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำของสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 โดย 2 ใน 4 ลำพุ่งชนอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในนครนิวยอร์ก ลำที่ 3 พุ่งชนสำนักงานกระทรวงกลาโหม ( เพนตากอน ) ในรัฐเวอร์จิเนียเสียหายบางส่วน แต่ลำที่ 4 ซึ่งต้องการพุ่งชนอาคารรัฐสภาสหรัฐในกรุงวอชิงตันตกลงบนทุ่งหญ้าในรัฐเพนซิลเวเนียก่อน เนื่องจากผู้โดยสารพยายามต่อสู้ ผลจากการก่อวินาศกรรมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,900 ศพ และได้รับบาดเจ็บกว่า 6,000 คน

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เดลินิวส์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน