header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

นักวิเคราะห์ชี้ปัญหาค่าแรง หากแรงงานเขมรรวมตัวฝ่ายค้าน ฮุนเซนมีหนาว

ASEAN News

8 มกราคม 2557 : เอเอฟพี - แรงงานชาวกัมพูชาที่ตรากตรำทำงานในโรงงานที่ผลิตสินค้าให้แก่ Gap และ Nike และร้องขอปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น ต้องพบว่าตนเองได้กลายเป็นแนวหน้าในการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อบรรดาผู้คัดค้านของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน

การชุมนุมประท้วงอย่างสงบหลายเดือนของผู้สนับสนุนฝ่ายค้านที่เรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ เป็นภัยคุกคามเพียงเล็กน้อยต่อฮุนเซน หนึ่งในผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก แต่เมื่อแรงงานโรงงานที่ผละงานประท้วงเริ่มเข้าร่วมกำลังกับฝ่ายค้าน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่เป็นพรรครัฐบาลตอบโต้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีแรงงานอย่างน้อย 4 คน ถูกยิงเสียชีวิต และอีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ ด้วยฝีมือของกองกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

การปราบปรามอย่างรุนแรงสะท้อนให้เห็นถึงพลังทางการเมืองที่มีศักยภาพของบรรดาแรงงานกัมพูชาหลายแสนคนที่ตัดเย็บเสื้อผ้า และรองเท้าให้แก่ผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อของตะวันตก

“หากการประท้วงทั้ง 2 กระแสรวมตัวกัน (ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และแรงงานที่ผละงานประท้วง) พวกเขาจะเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครองของฮุนเซน” คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชา จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย กล่าว

 

 

แรงงานประมาณ 650,000 คน ถือเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่เป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติสำคัญของกัมพูชา แรงงานเหล่านี้เรียกร้องขอปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 2 เท่า เป็น 160 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ดอลลาร์ต่อวัน แต่รัฐบาลเสนอปรับขึ้นค่าแรงที่ 100 ดอลลาร์

นางเอิน ดานี แรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และส่งเสียค่าเล่าเรียนให้แก่ลูก

“พวกเราลำบากมากที่ต้องพยายามอยู่รอดด้วยเงินเดือนเพียงเท่านี้ แรงงานมักล้มป่วยเพราะสภาพการทำงาน และสารเคมีบนเสื้อผ้า” นางเอิน ดานี กล่าว และเรียกร้องให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตในกัมพูชาให้มากขึ้นแทนการคว่ำบาตร เพื่อที่เธอจะได้มีงานทำมากพอ ขณะเดียวกัน ก็ต้องกดดันให้เจ้าของผลิตภัณฑ์รับประกันค่าแรงที่ยุติธรรม และสภาพการทำงานที่ดีให้แก่แรงงาน

ฮุนเซน ได้เปลี่ยนกัมพูชาจากประเทศที่เสียหายอย่างหนักจากยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปลายทศวรรษ 1970 กลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจสดใสที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายกรัฐมนตรีวัยอายุ 61 ปี ที่ปกครองกัมพูชามานานถึง 28 ปีผู้นี้ ให้คำมั่นว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะอายุครบ 74 ปี

รัฐบาลของฮุนเซน ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง และฝ่ายค้านได้คว่ำบาตรการประชุมรัฐสภานับตั้งแต่การเลือกตั้งเดือน ก.ค. เสร็จสิ้น ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น

นักวิจารณ์ฮุนเซน กล่าวหาว่า การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อแรงงานผละงานประท้วง ที่ระบุว่าแรงงานขว้างปาหิน และระเบิดขวดเข้าใส่ตำรวจนั้นถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีการประท้วงอย่างสันติของฝ่ายค้านที่สวนสาธารณะในกรุงพนมเปญในวันต่อมา และนับแต่นั้น รัฐบาลได้สั่งห้ามจัดการชุมนุมประท้วงอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่แรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปต้องยุติการผละงาน ซึ่งส่วนใหญ่กลับไปทำงาน แต่มีบางส่วนหนีกลับบ้านด้วยความหวาดกลัว

นักวิเคราะห์ชี้ปัญหาค่าแรง หากแรงงานเขมรรวมตัวฝ่ายค้าน ฮุนเซนมีหนาว

แม้ความตึงเครียดจะลดลง แต่แรงงานกล่าวว่าการต่อสู้ยังไม่จบสิ้น

“เราจะเรียกร้องขึ้นค่าแรงต่อไปจนกว่าเราจะได้เงินที่เหมาะสม” คิม วัต อายุ 42 ปี ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้แก่ Nike กล่าว

“ผมรู้สึกโกรธมากกับเหตุการณ์การปราบปรามเมื่อเร็วๆ นี้ และผมจะเข้าร่วมการผละงานทุกนัดในอนาคต ผมไม่กลัว”

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานจากบริษัทสินค้าต่างชาติ และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานต่อรัฐบาลกัมพูชา เพื่อหวังที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีก

“เราคัดค้านความรุนแรงไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด และเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาผลักดันให้มีการเจรจาระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติ” โฆษกบริษัท Gap กล่าว

ส่วนบริษัท H&M ระบุคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการเจรจาเรื่องค่าแรงอย่างสันติ

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากในความพยายามที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างความคาดหวังของผู้บริโภคตะวันตกที่ต้องการเสื้อผ้าในราคาที่เหมาะสม กับข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการเพิ่มค่าแรง

สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชา (GMAC) กล่าวว่า การผละงานประท้วงของแรงงานสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมราว 200 ล้านดอลลาร์ และจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างหนัก หากอุตสาหกรรมนี้กลับกลายเป็นไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ หรือนักลงทุนย้ายฐานไปที่อื่น

อัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันของแรงงานกัมพูชา อยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อเดือน สูงกว่าค่าแรงของแรงงานในบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ต่ำกว่าจีนที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้

เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะพบว่า ค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานในบังกลาเทศ อยู่ที่ประมาณ 68 ดอลลาร์ต่อเดือน พม่าอยู่ที่ 80-100 ดอลลาร์ต่อเดือน เวียดนาม 90-130 ดอลลาร์ต่อเดือน และจีน 170-250 ดอลลาร์ต่อเดือน

“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแหล่งแรงงานราคาถูกอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเสมอ ทั้งบังกลาเทศ ปากีสถาน พม่า ยังคงสามารถจัดหาแรงงานที่เต็มใจได้อีกเป็นจำนวนมาก” ดักลาส เคลย์ตัน CEO บริษัท Leopard Capital กล่าว.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน