header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ตอบโต้หรือหลบหนี? กฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลกำลังทำหนุ่มสาวพม่าดิ้นรนหนัก

ASEAN News

8 เมษายน 2567 :  หลายสัปดาห์หลังรัฐบาลทหารพม่าประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร หญิงสาว 2 คนจากพื้นที่ห่างไกลของประเทศตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าป่าเพื่อจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหาร

ส่วนผู้ชาย 2 คนในวัย 30 จากเมืองใหญ่ของประเทศ ภัยคุกคามจากกฎหมายเกณฑ์ทหารที่ประกาศใช้เมื่อเดือนก.พ. ทำให้พวกเขาตัดสินใจทิ้งชีวิตในพม่าและหลบหนีไปไทย

การตัดสินใจของหนุ่มสาว 4 คนในการเข้าร่วมฝ่ายต่อต้านหรือหลบหนีออกจากประเทศ ได้เผยให้เห็นถึงสถานการณ์สับสนวุ่นวายในพม่า ท่ามกลางการต่อต้านกองทัพที่ขยายตัวขึ้น และกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ต่อรัฐบาลทหารนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564

 

การบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารปี 2553 รัฐบาลทหารระบุในเดือนก.พ.ว่า ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงที่มีอายุ 18-27 ปี ต้องเข้ารับใช้ชาตินาน 2 ปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 3 ปี

นั่นหมายความว่าประชาชน 14 ล้านคน หรือ 27% ของประชากรทั้งหมดของพม่า ต้องถูกเกณฑ์ทหาร รัฐบาลทหารระบุ และตั้งเป้าเกณฑ์ทหารใหม่ที่ประมาณ 60,000 คนต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินขนาดของกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มกบฎ หรือจำนวนคนที่พยายามหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้

รัฐบาลกำลังตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่เปิดฉากโจมตีในเดือนต.ค. ที่กลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลทหารนับตั้งแต่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี

“หลังจากประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร คนหนุ่มสาวทุกคนต้องตัดสินใจ” นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ อายุ 18 ปี ที่เดินทางออกจากรัฐมอญของพม่าโดยไม่บอกแม่ของเธอเพื่อเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าว

“ฉันไม่กลัวการต่อสู้ ฉันตัดสินใจแล้ว” นักศึกษาสาวคนเดิม กล่าว

ที่กรุงเทพฯ หนึ่งใน 2 ชายหนุ่มที่หนีออกจากประเทศ กล่าวว่าวันก่อนเขายังทำงานและอยู่กับครอบครัว แต่ตอนนี้เขามาอยู่กรุงเทพฯแล้ว

ทั้ง 4 คน ขอไม่เปิดเผยตัวตนโดยอ้างถึงเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารกลุ่มแรกกำลังเข้ารับการฝึก และหน่วยงานท้องถิ่นได้ออกประกาศไปยังผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

หน้าเพจต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลได้เผยแพร่ภาพที่ระบุว่าเป็นกลุ่มชายหนุ่มกำลังเข้าไปในโรงฝึกทหาร

แต่การต่อสู้อย่างไม่ลดละยาวนานหลายเดือนทำให้กำลังพลของรัฐบาลทหารลดลง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารต้องบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร

“ความเคลื่อนไหวนี้กำลังส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพม่าของ Crisis Group กล่าว

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 นำไปสู่การอพยพของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษา ตุน มี้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าจากวิทยาลัยคาร์ลตันในรัฐมิเนโซตา กล่าว

“ผู้คนที่กำลังจะเป็นหรือเป็นแพทย์ อาจารย์ วิศวกร และอื่นๆ กำลังทิ้งประเทศไป ไม่มีอนาคตสำหรับเยาวชน” ตุน มี้น กล่าว

เป็นเวลาหลายปี ที่หญิงสาวอายุ 21 ปี จากภูมิภาคพะโค ทางตอนกลางของประเทศใฝ่ฝันที่จะลงเรียนภาษาเพื่อทำงานเป็นมัคคุเทศน์ แต่การรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 ทำให้เธอต้องทำงานเป็นพนักงานขาย แต่ไม่กี่สัปดาห์ก่อน เธอได้เข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนชาติพันธุ์พม่า ที่ก่อตั้งโดยนักกวีที่ผันตัวมาเป็นผู้นำกองกำลังทหารอาสา

“พอกฎหมายถูกประกาศออกมา แม่ของฉันบอกให้ฉันเข้าร่วมในกองกำลังปฏิวัติดีกว่าเข้าร่วมกับกองทัพรัฐบาล” เธอกล่าวกับรอยเตอร์จากค่ายฝึก

ชายคนหนึ่งจากเมืองมัณฑะเลย์ที่ขายสินค้าในครัวเรือเพื่อระดมทุน 2,000 ดอลลาร์สำหรับย้ายมาอยู่ในไทยกล่าวอย่างสิ้นหวังว่า เขาไม่มีเป้าหมายสำหรับอนาคตหรืออาชีพการงานของเราอีกต่อไป เขาแค่คิดหาวิธีให้มีชีวิตรอดในแต่ละวัน.
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน